เทคนิคทำ Portfolio

Portfolio ต้องมีอะไรบ้าง?


พื้นฐานของ Portfolio โดยทั่วไปแล้วควรประกอบไปด้วย หน้าปก Portfolio, ประวัติส่วนตัว, ประวัติการศึกษา, กิจกรรมที่เคยเข้าร่วม, รางวัลที่เคยได้รับและผลงานต่างๆ, ภาคผนวก

เทคนิคทำ Portfolio ยังไงให้เข้าตา !?
เทคนิคทำ Portfolio ยังไงให้เข้าตา !?

1. หน้าปก Portfolio


การทำหน้าปก Portfolio นั้นไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายไปเลยซะทีเดียว เราต้องทำยังไงก็ได้ให้ปกแฟ้มสะสมงานของเราดูน่าสนใจจนกรรมการผู้สัมภาษณ์หยิบขึ้นมาอ่าน ถ้าทำแบบนี้ได้ก็ถือว่าสำเร็จแล้วละค่ะ

  • เทคนิค : เราควรบอกข้อมูลพื้นฐานของเราในหน้าปกด้วย เช่น ชื่อ-นามสกุล และโรงเรียน เป็นต้น ควรบอกข้อมูลในชัดเจน เลือกฟอนต์ตัวหนังสือให้อ่านง่าย เห็นชัด รูปภาพตัวเราบนหน้าปกควรเป็นรูปที่ดูแล้วรู้ทันทีว่าคือเรา อาจใส่ชุดไปรเวทได้ แต่ยังต้องอยู่ในความสุภาพเรียบร้อยอยู่ ควรหลีกเลี่ยงภาพที่ใส่กางเกงยีนส์ขาดๆ หรือเสื้อสายเดี่ยวต่างๆ
เทคนิคทำ Portfolio ยังไงให้เข้าตา !?

2. ประวัติส่วนตัว


บอกประวัติส่วนตัวของตนเองให้ละเอียด อย่างเช่น ชื่อ-นามสกุล, ชื่อเล่น, อายุ, วันเกิด, กรุ๊ปเลือด, นิสัย, ความชอบ หรืองานอดิเรก, สิ่งที่สนใจ หรือแม้กระทั่งว่าเรามองอนาคตอย่างไรก็สามารถใส่เข้าไปในส่วนนี้ได้

  • เทคนิค : การเลือกฟอนต์เป็นสิ่งสำคัญ ควรเลือกฟอนต์ที่อ่านง่าย สะอาดสะอ้าน และมองเห็นได้ชัด และในส่วนนี้น้องๆ อาจโชว์ความสามารถสักหน่อยโดยการทำประวัติส่วนตัวเป็น 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ


3. ประวัติการศึกษา


บอกประวัติการศึกษาของตนเองโดยเรียงจากระดับจากน้อยที่สุดมาจนปัจจุบัน หากมั่นใจในเกรดเฉลี่ยของตนเองก็สามารถใส่เข้าไปในส่วนนี้ได้เลย หากต้องการใส่ทรานสคริปแนะนำว่าให้ใส่ในส่วนของภาคผนวกแทน ชื่อโรงเรียนที่เขียนควรเป็นชื่อโรงเรียนแบบเต็มยศนะคะ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ตัวย่อในการทำ Portfolio นะคะ

  • เทคนิค : อาจเลือกอธิบายประวัติการศึกษาโดยแบ่งเป็น ระดับประถม ระดับมัธยมตอนต้น ระดับมัธยมตอนปลาย หรือระดับอาชีวศึกษา เป็นต้น และใช้เทคนิคการอธิบายแบบตาราง เพื่อให้ดูเข้าใจง่าย 


4. กิจกรรมที่เคยเข้าร่วม


ส่วนนี้ถือว่าเป็นหัวใจหลักของ Portfolio เลยก็ว่าได้ ดั้งนั้นควรเลือกกิจกรรมเด่นๆ ของเรามาใส่ในส่วนนี้ดีๆ นะคะ กิจกรรมในที่นี้หมายถึงกิจกรรมที่ไม่ใช่ด้านวิชาการต่างๆ โดยอาจจะเลือกการจัดเรียงแบบระดับชั้นก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย อย่างเช่น เมื่อต้นระดับชั้นมัธยมต้นเคยทำกิจกรรมอะไรบ้าง เป็นต้น

  • เทคนิค :  เลือกใส่ผลงานที่เด่นๆ และมีความเกี่ยวข้องกับคณะที่เราอยากจะเข้า ในแต่ละกิจกรรมอาจเลือกเพียง 3-4 รูปในและเขียนอธิบายใต้ภาพสั้นๆ ให้เข้าใจง่ายว่าเราทำอะไรในกิจกรรมนั้นๆ


5. รางวัลที่เคยได้รับและผลงานต่างๆ


ส่วนนี้ก็ถือเป็นหัวใจของ Portfolio เช่นกัน ดังนั้น เราควรเลือกแค่ผลงาน หรือรางวัลเด่นๆ ที่สามารถบอกว่าตัวเราเองนั้นมีความสามารถอะไรบ้างโดยการใส่ภาพผลงานนั้นๆ ลงไป ส่วนพวกเกียรติบัตรและรางวัลต่างๆ สามารถอ้างอิงและนำไปใส่ในภาคผนวกได้ค่ะ

  • เทคนิค : ควรเขียนอธิบายความภูมิใจในผลงานต่างๆ ที่เคยได้ทำ ว่าเราภูมิใจอะไรในงานนั้น ลำบากแค่ไหนกว่าจะทำสำเร็จ เป็นต้น
เทคนิคทำ Portfolio ยังไงให้เข้าตา !?

6. ภาคผนวก


ส่วนนี้คือส่วนที่ร่วมรวบเอกสารและภาพกิจกรรมต่างๆ ที่เราต้องการที่จะใส่เพิ่มเติม โดยเอกสารหลักๆ ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ สำเนาใบทรานสคริป นั่นเอง ในส่วนของเกียรติบัตรต่างๆ แนะนำว่าให้ถ่ายเป็นสำเนาและเรียงตาม พ.ศ. ที่ได้รับ

  • เทคนิค :ในการใส่เกียรติบัตรหรือภาพต่างๆ ควรมีการระบุเลขหน้าไว้ด้วย เนื่องจากเวลาสัมภาษณ์เราจะได้พูดอ้างอิงได้ง่ายๆ ว่ามาจากเกียรติบัตรหรือกิจกรรมใด


ทั้งหมดนี้ก็คือส่วนประกอบพื้นฐานและเทคนิคต่างๆ ที่ Sanook! Campus หวังว่าจะมีส่วนช่วยน้องๆ ในการเป็นแนวทางทำ Portfolio อย่างไรก็ตาม การใส่ความเป็นตัวของตัวเองลงเป็นใน Portfolio นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ใครชอบแบบเรียบๆ ก็ทำรูปแบบให้ออกมาเรียบๆ สะอาดๆ แต่ก็ดูน่าสนใจได้ ไม่จำเป็นต้องมีสีสันจัดจ้านเสมอไปถึงจะสามารถดึงดูดให้กรรมการผู้สัมภาษณ์มาสนใจได้

ที่มา https://www.sanook.com/campus/1390633/

10 คำถาม สอบสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัย

1. การแนะนำตัวเอง

การที่คณะกรรมการถามคำถามนี้ ไม่ใช่ว่าอยากรู้ข้อมูลส่วนตัวของคุณ เพราะอย่าลืมว่าพวกเขาย่อมมีประวัติส่วนตัวของคุณโดยละเอียดอยู่แล้ว ดังนั้นคำถามนี้จึงเหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้คุณทำคะแนนสร้างความประทับใจแรกแก่กรรมการ และยังเหมือนเป็นการละลายพฤฒิกรรมให้คุณผ่อนคลายกับคำถามต่อๆ ไปอีกด้วย

คำตอบ : สำหรับข้อนี้ ไม่มีอะไรแนะนำคุณมากนัก นอกจากให้คุณมี ‘สติ’ เพราะถ้าคำถามแรกคุณตอบอย่างมีสติ รับรองว่าคำถามต่อๆ ไปผ่านฉลุยแน่นอน

2. ทำไมถึงเลือกเรียนคณะ/สาขานี้

เป็นคำถามที่ร้อยทั้งร้อยต้องเจอ และยังเป็นคำถามที่ชี้วัดชะตากรรมของคำถามต่อไปเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าคุณตอบดีเข้าตากรรมการ คำถามต่อไปก็ง่ายขึ้นเรื่อยๆ เพราะกว่า 50% ของคณะกรรมการจะตัดสินในใจแล้วว่าคุณเหมาะหรือไม่กับการเรียนคณะนี้นั่งเอง

คำตอบ : เชื่อว่าหลายคนที่เจอคำถามนี้ ก็ต้องตอบว่า “อยากเรียนมานานแล้วค่ะ/ครับ” ซึ่งคำตอบแบบนี้ถือว่าเฉยๆ มาก พวกเขาจะไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไรกับคำตอบของคุณเลยจนกว่าคุณจะกล่าวข้อมูลเสริมเข้าไป เช่น ฝันอยากแอร์โฮสเตสมาตั้งแต่เด็ก จึงตั้งใจเรียนด้านภาษามาโดยตลอด และทุกครั้งที่ขึ้นเครื่องบินได้มีโอกาสเห็นพี่ๆ เขาพูดภาษาคล่องๆ ให้บริการอย่างชำนาญแล้วก็ยิ่งรู้สึกมีแรงบันดาล ดังนั้นจึงเลือกเรียนคณะ/สาขานี้ เป็นต้น

3. รู้หรือไม่ว่าคณะ/สาขานี้เรียนอะไรบ้าง?

คำถามนี้เป็นการทดสอบว่าคุณหาความรู้เกี่ยวกับคณะที่จะเข้ามาศึกษามากน้อยเพียงใด ดังนั้นจึงไม่ควรตอบแบบผิวเผิน เช่น ไม่ทราบ หรือ คณะมนุษย์ศาตร์ก็มีไว้สอนภาษา เพราะถ้าตอบแบบนั้นก็เตรียมรอสอบที่ใหม่ได้เลย

คำตอบ : สำหรับข้อนี้คุณควรจะตอบเป็นเชิงลึกลงไป เช่น คณะมนุษย์ศาตร์เป็นคณะที่มีการเรียนการสอนหลากหลาย ซึ่งนอกจากภาษาแล้ว ยังสอนการบริการ, การตลาด, การบริหาร รวมไปถึงความรู้ต่างๆ ที่เราสามารถนำไปใช้ในการทำงานได้จริงอีกด้วย เรียกได้ว่ารู้อะไรเกี่ยวกับคณะนี้ให้ตอบออกไปให้หมดเลยก็ว่าได้

4. เรียนหนักนะ จะไหวเหรอ?

เป็นคำถามสั้นๆ แต่ได้ใจความ เพราะเป็นเหมือนการคอนเฟริมความมั่นใจของคุณไปในตัว คณะกรรมการบางคนอาจจะถามเหมือนเป็นเชิงดูถูกให้คุณของขึ้นเล่นๆ แต่อย่าไปคิดมาก ให้ตอบแบบมั่นใจเข้าไว้ว่าเราทำได้

คำตอบ : ไหวแน่นอนค่ะ/ครับ เพราะถ้าได้เข้าคณะที่ฝันมานาน คิดว่าคงไม่มีไรยากไปกว่านี้แล้วค่ะ/ครับ ขอย้ำว่าเสียงที่ตอบต้องมีความมั่นใจ ห้ามยิ้มแหย่ๆ หรือเกาหัวแก๊กๆ เป็นอันขาด

5. แล้วถ้าไม่ได้ที่นี่จะทำยังไง

เมื่อได้ยินคำถามนี้ ขอย้ำคำว่า ‘สติ’ อีกครั้ง เพราะคณะกรรมการเพียงแค่ดูไหวพริบและความคิดหลังจากได้รับแรงกดดันเท่านั้น ห้ามตอบว่า ‘ไม่ทราบ’ เป็นอันขาด

คำตอบ : ให้ย้ำความตั้งใจที่จะเข้าคณะนี้อีกครั้ง โดยอาจจะตอบว่าจะรอรอบสัมภาษณ์หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นการย้ำว่าคุณต้องการเข้าศึกษาต่อคณะนี้จริงๆ

6. ถามเกี่ยวกับกิจกรรมที่เคยเข้าร่วม

คำถามนี้ไม่ใช่การชวนคุย แต่เป็นคำถามที่จะดูว่าคุณเป็นคนมีสาระหรือไม่ ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์หรือเปล่า และกิจกรรมที่คุณเคยทำสอดคล้องกับคณะที่จะเรียนมากน้อยเพียงใด

คำตอบ : ข้อนี้คุณอาจจะตอบสร้างภาพเกี่ยวกับกิจกรรมที่สอดคล้องกับคณะที่จะเข้าก็ได้ หรือถ้าคุณจะตอบแบบตรงไปตรงมา ก็ขอให้คุณอธิบายเพิ่มเติมไปว่า เพราะอะไรถึงเข้าร่วมและกิจกรรมที่ทำมีประโยชน์อะไรบ้าง แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะทำกิจกรรมที่ตรงกับอาชีพหรือคณะที่เรียน ขนาดหมอยังไปเตะบอล ทั้งที่ไม่ได้จบคณะพละศึกษาสักหน่อย

7. ข้อดีของคุณคืออะไร

แน่นอนว่าหลายคนย่อมมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่ข้อดีของคุณมันดีต่อคนอื่นหรือเปล่านั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง

คำตอบ : ให้คุณตอบไปเลยอย่างมั่นใจว่าคุณมีข้อดีอะไรบ้าง แต่อย่าลืมที่จะเติมท้ายไปว่า ข้อดีของคุณดีต่อคนอื่นอย่างไรด้วยนะ

8. ข้อเสียของคุณคืออะไร

บางคนอาจตอบอย่างมั่นใจว่า ‘ไม่มี’ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับตนเอง แต่คุณอย่าลืมคิดไปว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ดีพร้อมไปหมดทุกอย่างหรอกนะ และคนที่รู้ข้อเสียของตนเองก็ดูเป็นคนน่าคบหามากกว่าคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีข้อเสียอะไร

คำตอบ : ข้อนี้คุณควรตอบข้อเสียของคุณออกไปเลยอย่างมั่นใจ แต่อย่าลืมที่จะบอกวิธีแก้ไขข้อเสียของคุณเข้าไปด้วย เช่น เป็นคนไม่รอบคอบ แต่ก็พยายามทวนสิ่งที่ต้องทำหรือสิ่งที่สำคัญทุกครั้งก่อนไปทำอย่างอื่นค่ะ/ครับ คำตอบแนวนี้จะช่วยให้เขาคิดว่า คุณเป็นคนยอมรับในข้อผิดพลาดของตัวเองและพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ

9. ถามการเดินทางมาเรียนเป็นอย่างไร

หลายคนอาจมองว่าเป็นคำถามไร้สาระ แต่เชื่อหรือไม่ว่าระยะการเดินทางมาเรียน ถือเป็นสาเหตุหลักให้รุ่นพี่ของคุณโดนรีไทล์มาแล้ว ดังนั้นก่อนตอบต้องคิดให้ดีและตอบอย่างมั่นใจ

คำตอบ : ให้คุณตอบไปตามความจริง เพราะอย่าลืมว่า เขามีที่อยู่ของคุณอยู่ในมือ ซึ่งถ้าหากคุณพักอยู่ไกลก็ให้ตอบไปเลยว่าไกล แต่จะพยายามออกเดินทางให้เร็วขึ้น คุณอาจจะเล่าแผนการเดินทางมาเรียนให้เขาฟังก็ได้ หรือเสริมท้ายไปว่าหากได้เข้าเรียนคณะนี้แล้วระยะทางเป็นอุปสรรคต่อการเรียนจริงๆ จะหาที่พักที่เดินทางสะดวกครับ/ค่ะ

10. มีข้อมูลสอบถามเพิ่มเติมหรือไม่

คำถามนี้ไม่ใช่คำถามเล่นๆ อย่างแน่นอน เพราะหลายคนที่กำลังนั่งสัมภาษณ์อยู่คงมีคำถามมากมายอยู่ในหัว อาจจะเกี่ยวกับกำหนดการประกาศผลสอบสัมภาษณ์ หรือขอคำแนะนำในการเตรียมตัวเมื่อรู้ผลก็ได้

คำตอบ : ข้อนี้ไม่มีคำตอบตายตัว แต่ขอแนะนำว่า ให้คุณถามข้อสงสัยที่มีอยู่ออกไปทั้งหมด แต่ต้องเป็นคำถามที่ Make Sense หน่อยนะ เช่น ถ้าไม่ผ่านจริงๆ ทางคณะมีแนวทางการช่วยเหลืออะไรบ้าง เป็นต้น แต่อย่าเงียบหรือตอบว่า ‘ไม่มี’ เพราะคุณจะดูเป็นคนไม่มีความใส่ใจไปเลยทันที

ที่มา : eduzones.com